"Oh quand je dors"
Franz Liszt


Background
แบ่งออกเป็นสองส่วนคือที่มาของบทกวีและที่มาของดนตรี
บทกวีนี้ ฮูโกประพันธ์ขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน คศ. 1839 และเผยแพร่ในปีต่อมาบนหนังสือชื่อ Les rayons et les ombres (Rays and Shadows)
โดยมีแรงบัลดาลใจมาจากความรักของตนเอง กับหญิงสาวชื่อว่า Juliette Druot ซึ่งทั้งสองได้แอบมีความสัมพันธ์กันอย่างลับๆ ตัวฮูโกเองเป็นนักกวีที่โรแมนติก เขาใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ รวมไปถึงความฝันในทุกๆคืนของเขา ฮูโกเปรียบเทียบความรักของเขากับตำนานความรักอันโด่งดังระหว่างนักปราชญ์ชาวอิตาลีชื่อเพทราก และ
ลอร่า หญิงสาวที่เพทรากพบที่โบสถ์และตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ จนเก็บมาคิดถึงและแต่งบทกวีให้เธอมากถึง 317 บท (อ้างอิงจากหนังสือ Rime Sparse หรือ Petrarch's canzoniere ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมบทกวีเล็กๆที่กระจัดกระจายของเพทรากไว้มากถึง 366 บท) โดยชื่อลอร่านี้อาจไม่ใช่ชื่อจริงๆของหญิงสาวคนนั้น แต่อาจเป็นชื่อที่เพทรากใช้เรียกเธอขึ้นมาเอง โดยที่ไม่เคยรู้จักชื่อจริงของกันและกันมาก่อน
ส่วนดนตรีที่ประพันธ์โดยลิสท์นั้น มีด้วยกันสองฉบับ ฉบับแรกแต่งขึ้นในปี คศ. 1842 หลังจากนั้นอีก 15 ปีจึงได้นำมาปรับแต่งใหม่ให้สั้นลง และการปรับปรุงฉบับใหม่นี้ ทำให้เพลงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในการนำออกแสดง และบันทึกเสียง
มีข้อสันนิษฐานว่าลิสท์อาจจะแต่งเพลงนี้โดยมีเรื่องราวชีวิตรักของตนเองกับเจ้าหญิง Carolyne von Sayn-Wittgenstein (1819-1887) แห่งโปแลนด์ ซึ่งเป็นนักเขียน เช่นเดียวกับภรรยาเก่าของเขา Countess Marie d'Agoult (1805- 1876) ซึ่งเป็นสตรีสูงศักดิ์ในประเทศฝรั่งเศษ โดยเมื่อลิสท์หย่ากับภรรยาคนแรกในปี 1844 ก็ย้ายไปอยู่เจ้าหญิงทันที จึงอาจเป็นได้ว่าลิสท์รู้จักกับเจ้าหญิงมาก่อนหน้านั้น และอาจเป็นแรงบันดาลใจในงานแต่งบทเพลงนี้ฉบับแรกเมื่อปี 1842
นอกเหนือจากลิสท์แล้ว ยังมีนักประพันธ์อีกหลายท่านที่นำกลอนบทนี้ไปแต่งเพลง ได้แก่ Georges Bizet (1838-1875), Edouard Lalo (1823-1892), และ Bernard van Dieren (1887-1936)
Oh quand je dors
Franz Liszt
French
Oh! quand je dors, viens auprès de ma couche,
Comme à Pétrarque apparaissait Laura,
Et qu’en passant ton haleine me touche …
Soudain ma bouche
S’entr’ouvrira!
Sur mon front morne où peut-être s’achève
Un songe noir qui trop longtemps dura,
Que ton regard comme un astre se lève …
Et soudain mon rêve
Rayonnera!
Puis sur ma lèvre où voltige une flamme,
Éclair d’amour que Dieu même épura,
Pose un baiser, et d’ange deviens femme …
Soudain mon âme
S’éveillera!
English
Ah, while I sleep, come close to where I lie,
As Laura once appeared to Petrarch,
And let your breath in passing touch me …
At once my lips
Will part!
On my sombre brow, where a dismal dream
That lasted too long now perhaps is ending,
Let your countenance rise like a star …
At once my dream
Will shine!
Then on my lips, where a flame flickers—
A flash of love which God himself has purified—
Place a kiss and be transformed from angel into woman …
At once my soul
Will wake!
Thai
เมื่อยามเอนตัวลงนอน ล่องลอยสู่ห้วงนิทรา
ยามนั้นเองลอร่าปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าเพทราค
และลมหายใจอุ่นๆสัมผัสกายกันอย่างแผ่วเบา...
พร้อมกับริมฝีปากของฉันที่คลี่ออกเช่นกลีบกุหลาบ
ในห้วงแห่งความฝัน ฝันหวานสีเทาๆ
คล้ายสุขชั่วนิรันดร์ แต่ก็เบาบางเช่นเมฆหมอก
เมื่อใบหน้าของเธอลอยขึ้นมาราวกับแสงดาว
เมื่อนั้น.....ภาพฝันของฉันพลันสุขสว่าง
บนริมฝีปากอิ่ม เร่าร้อนดั่งเปลวไฟเล็กๆเต้นระบำ
ประกายแห่งไฟชำระอันบริสุทธ์
ประทับจุมพิตให้เทพธิดาน้อยๆกลายเป็นหญิงสาวเต็มตัว
ทันใด....จิตวิญญาณของฉันพลันตื่นขึ้น

The Commonality
อีกหนึ่งผลงานชื่อดังจาก ฟรานซ์ ลิสท์ (Franz Liszt) และกวีชื่อดัง วิคเตอร์ ฮูโก (Victor Hugo) ที่ผสมผสานเรื่องราวความรักจากมุมของของตนเองลงในบทเพลง Oh quand je dors นี้
ผ่านตัวโน้ตและภาษาอันงดงามออกมาได้อย่างลงตัว
สำหรับ The Commonality บทนี้ ผู้วิจัยต้องการจะสื่อสารบทเพลงในมุมมองของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักคนละบทกับฮูโกและลิสท์ แต่ยังต้องการที่จะสื่อสารผ่านรูปแบบเดิม คือดนตรีคลาสสิก โดยในโปรเจคนี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักดนตรีรับเชิญอีกสองท่าน ได้แก่ พี่มอ
(มรกต เชิดชูงาม) ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงบทเพลงขึ้นใหม่สำหรับคอนเสิร์ตในครั้งนี้ รวมถึงยังให้เกียรติบรรเลงเปียโนด้วยตนเองอีกด้วย และอีกท่านคือ เจ (ณัฐวุฒิ สังฆัสโร) Principal Double Bass จากวง RBSO หรือวง Royal Bangkok Symphonic Oechestra ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่เล่น
วงแชมเบอร์ด้วยกันมานาน โดยสาเหตุที่อยากเล่นกับนักดนตรีสองท่านนี้ นอกจากเล็งเห็นถึงฝีมือการบรรเลงที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังชื่นชอบในวิธีการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านบทเพลงของทั้งสองท่านอีกด้วย ทำให้อยากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน และหาประสบการณ์จากการทำงานกับทั้งสองท่าน
เพื่อนำไปพัฒนาตนเองได้ในภายภาคหน้า
อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่าบทเพลงนี้เกี่ยวกับความรัก ซึ่งก็เป็นความรักที่ไม่ค่อยราบรื่น
มีทั้งไม่สมหวัง หรือเป็นความรักที่ต้องหลบๆซ่อนๆ
ส่วนในฉบับนี้ พวกเราทั้งสามคนก็จะมานำเสนอความรักในรูปแบบของตนเอง ผสมผสานและถ่ายทอดออกมา ผ่านการเรียบเรียงของพี่มรกตที่ทำให้ส่วนตัวผู้ร้องรู้สึกว่าเสียงดับเบิลเบสที่พี่มรกตได้เพิ่มเข้ามานั้นแทนภาพคนรัก และเรื่องราวที่มีความสุขในห้วงจิตนาการ จากการที่เสียงดับเบิลเบสเป็นเสียงแรกที่เริ่มบรรเลง เหมือนฉายภาพขึ้นมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น ส่วนเสียงเปียโนในตอนต้นแทนสภาวะของการหลับไหล ตกอยู่ในห้วงแห่งความฝัน โดยการค้างเสียงคอร์ดต่อๆกัน แล้วค่อยๆแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามสภาวะความรู้สึกของหญิงสาว ที่ถ่ายทอดผ่านเสียงโซปราโน ซึ่งโดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่าหญิงสาวอยู่สภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น บางครั้งเหมือนรู้ตัว บางครั้งเหมือนสับสน คิดไปว่าความฝันคือความจริง ทำให้บทเพลงมีหลากหลายช่วงอารมณ์ เปลี่ยนไปตามความรู้สึกนึกคิดและภาพฝันของหญิงสาว ณ เวลานั้น
Interpretation
The Commonality บทนี้ตั้งใจจะนำเสนอหัวใจหลักของบทเพลงซึ่งก็คือความรักที่ไม่ค่อยสมหวัง ไม่ว่าจะเป็น รักแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แอบรักแต่เขาไม่รู้ หรือความรักที่ผิดที่ผิดเวลา ใดๆก็ตาม โดยจะนำเสนอผ่านมุมของของพวกเราทั้งสามคน ผสมผสานเป็นบทเพลง Oh quand je dors ในฉบับใหม่ เช่นเดียวกับที่ลิสท์และฮูโกได้เคยทำร่วมกันไว้ The Commonality บทนี้ทำให้ตัวผู้วิจัยเล็งเห็นถึงเสน่ห์อีกด้านของดนตรี ที่สามารถรวมผู้คนเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยกันด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เสมือนการนำอัตลักษณ์ของแต่ละคนมาสร้างเป็นสิ่งใหม่ได้อย่างสวยงามและน่าทึ่ง
สำหรับในส่วนต่อไปนี้ผู้วิจัยต้องการนำเสนอการตีความในมุมมองของตัวเองเกี่ยวกับบทเพลงนี้ ในส่วนของเพื่อนร่วมวงอีกสองท่านจะได้รับชมกันผ่านวีดีโอด้านล่างนี้นะคะ

ในตอนต้นเพลงเริ่มด้วยเสียงดับเบิลเบส ทำให้เห็นภาพของคนรักขึ้นมาในฝัน และเสียงเปียโนแทนสภาวะของการหลับไหลอยู่ในห้วงภวังค์ ด้วยการใช้คอร์ดที่เคลื่อนไปช้าๆ เหมือนกำลังดำดิ่งลงสู่ภาพฝัน ส่วนตัวผู้วิจัยเองไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงที่จะบอกได้ว่าภาพในฝันนั้น เป็นเรื่องราวที่เคยมีความสุขในอดีต เป็นความรักที่ต้องเก็บซ่อนไว้ หรือเป็นรักที่คิดไปเองแค่ฝ่ายเดียว แต่ในตอนที่ร้องเพลงนี้ ตัวเองรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังซักเรื่องนึง ที่เต็มไปด้วยความสับสนของหญิงสาว ระหว่างความฝันและความจริง บางครั้งเหมือนรู้สึกตัวว่าฝัน แต่บางครั้งก็ถลำลึกไปจนคิดว่าภาพในฝันนั้นต่างหากที่เป็นความจริง

ห้องที่ 6-7 ดับเบิลเบสที่แทนภาพฝันเล่นโน้ตคล้ายๆกัน จาก C#-B เป็น C-B คล้ายเวลาเห็นภาพช็อตในทีวี ทำให้เหมือนเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังฝัน ย้ำกับตัวเองว่ากำลังฝัน และในห้องที่ 8 จึงค่อยเข้าสู่ Tonic ของคีย์ ซึ่งถ้าอิงตาม Key characteristics จะนิยามคีย์ E Major ว่าเป็นคีย์แห่งความสุขแต่ไม่สามารถเติมเต็มได้ (Laughing pleasure and not yet complete, full delight lies in E Major.) เหมือนกับความสุขที่อยู่เพียงแค่ในความฝัน และส่วนตัวรู้สึกว่าเหมือนเป็นสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น รู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ และหลังจากนั้นในห้องที่ 9-18 เหมือนคิดกับตัวเองว่าเรากำลังฝัน


เคยเป็นไหมที่คิดอะไรเพลินๆตอนนอน แล้วไม่รู้ตัวว่าหลับไปตอนไหน ในห้องที่ 19 นี้เสียงดับเบิลเบสกลับมาอีกครั้ง และเล่นคู่กันไปกับนักร้องตลอดจนถึงห้องที่ 28 ราวกับว่าหญิงสาวได้ดำดึ่งลงสู่ห้วงแห่งความฝันเพื่อพบกับคนรักของเธออีกครั้ง


ในห้องที่ 29-34 ดับเบิลเบสบรรเลงทำนองหลักของเพลงคู่ไปกับเปียโน ให้ความรู้สึกเหมือน
ล่องลอยอยู่ในความฝัน จนมาถึงห้องที่ 35 หญิงสาวเริ่มสับสนอีกครั้งและพยามบอกตัวเองว่านี่เป็นเพียงความฝันที่บางเบาคล้ายเมฆหมอกก่อนที่จะหลับฝันอีกครั้ง เมื่อเสียงดับเบิลเบสกลับเข้ามาเป็นแนวหลักในห้องที่ 42

เปลี่ยนจากคีย์ E Major เป็น F Major เหมือนกำลังถลำลึกลงไปสู่ความฝันมากขึ้นเรื่อยๆ

จนมาถึงห้องที่ 55 ซึ่งเป็นท่อนคาเดนซาของดับเบิลเบส แทนการปล่อยให้ความฝันมีอิทธิพลกับจิตใจอย่างมาก จนไม่สามารถแยกความฝันออกจากความจริงได้

กลับมาที่ทำนองหลักอีกครั้งในห้องที่ 57 ต่างกันที่ครั้งนี้ไม่ใช่ด้วยสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น แต่คิดว่าความฝันนั้นคือเรื่องจริงไปเสียแล้ว ด้วยเสียงดับเบิลเบสที่บรรเลงสลับรับกับเสียงร้อง เหมือนได้พบกันอีกครั้ง ได้อยู่ด้วยกันจริงๆ และประกอบกับเปียโนที่ให้ความรู้สึกเบาบาง ล่องลอยเหมือนฝัน ดำเนินไปเรื่อยๆด้วยความอิ่มเอมจนถึงห้องที่ 72

หญิงสาวดำดิ่งอยู่ในความฝันที่คิดไปว่าเป็นความจริง จนมาถึงห้องที่ 73 เนื้อเพลงแปลว่า "ทันใดนั้นจิตวิญญาณของฉันพลันตื่นขึ้น" ก่อนจะเปลี่ยนจากทำนองหลักเข้าสู่ทำนองใหม่ในห้องที่ 75 ซึ่งจากการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของความฝันในโปรเจคที่แล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องความลับของการจดจำความฝัน เพราะในบางครั้งสมองก็ช่วยเราจัดการเรื่องที่ค้างคาให้เสร็จในตอนที่เราหลับ หรือหาความตอบในสิ่งที่เราค้างคาใจจากชีวิตประจำวัน ในบางครั้ง เราก็จะได้พบประสบการณ์หรือความรู้สึกที่ไม่เคยพบมาก่อนจากความฝัน และเมื่อเราตื่นขึ้นมา ไม่ว่าเราจะจดจำความฝันนั้นได้หรือไม่ แต่จิตใต้สำนึกของเราก็ได้บันทึกความรู้สึกนั้นไปแล้วตลอดกาล

เมื่อเปลี่ยนจากทำนองหลักมาเป็นทำนองใหม่ในห้องที่ 75 และมีการร้องซ้ำสองครั้ง โดยมีการใช้คู่ 6 Major ที่ท้ายประโยค แทนการโหยหาบางสิ่ง ส่วนตัวผู้วิจัยรู้สึกว่า การซ้ำเนื้อร้องและทำนองส่วนนี้ หมายถึงการได้สัมผัสความรู้สึกบางอย่างในความฝัน และในตอนที่ตื่นขึ้น ความรู้สึกนั้นก็ยังคงอยู่ด้วย จากการจบประโยคเพลงที่โน้ต Tonic ในเสียงร้อง แสดงถึงการกลับมารู้สึกตัวอีกครั้ง

ห้องที่ 79-83 เปียโนและดับเบิลเบสเล่นทำนองที ่เป็น Variation ของห้องที่ 6-7 เหมือนกับภาพความฝันที่ขาดๆหายๆ ปะปนกับการเริ่มมีความรู้สึกตัว


เสียงร้องกลับมาอีกครั้งในห้องที่ 83 เนื้อเพลงมีความหมายว่า "กลับมาเถอะ" และในประโยคสุดท้ายแปลว่า "เมื่อลอร่าปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าเพทราก" เหมือนกับการบอกว่าอยากกลับไปหลับฝันเพื่อจะได้พบผู้เป็นที่รักอีกครั้ง ประกอบกับเสียงดับเบิลเบสที่เว้นระยะห่างออกไปเรื่อยๆ จนมาบรรจบกันที่โน้ตตัว G# เป็น Unison ร่วมกับเสียงร้อง

สองห้องสุดท้ายย้ำที่ Tonic ด้วยเสียงดับเบิลเบส เสมือนการย้ำว่าทั้งหมดเป็นเพียงความฝัน เพื่อสรุปจบให้กับบทเพลง
Oh quand je dors
by Franz Liszt
