top of page

การผลิตเสียง

เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถสื่อสารบทเพลงออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นเดียวกับการฝึกหายใจ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นเทคนิคที่ต้องฝึกฝนควบคู่กันไปเสมอ การฝึกใช้เสียงอย่างถูกวิธี จะทำให้เรารักษาสุขภาพของเส้นเสียงให้ดีไปตลอดอายุการใช้งานเช่นเดียวกัน

ต่อเนื่องจากการฝึกหายใจที่ได้พูดถึงการเริ่มต้นโน้ตตัวแรกนั้น นอกจากการเตรียมระบบซัพพอร์ตให้พร้อมก่อนการร้องแล้ว ในส่วนที่เล็กลงไปคือการสังเกตการทำงานของกล่องเสียง ก่อนร้องทุกครั้ง เส้นเสียงจะอยู่ในลักษณะที่แนบกันสนิท แล้วจึงปล่อยลมผ่านเส้นเสียงออกมาเพื่อสร้างเสียง วิธีนี้จะทำให้ลมผ่านเส้นเสียงออกมาอย่างพอเหมาะ และไม่ทำให้เส้นเสียงเกิดการบาดเจ็บ โดยเสียงที่ผลิตอย่างถูกต้องนั้นจะมีลักษณะใส กังวาล ไม่มีเสียงลมแทรก เนื่องจากเสียงลมเกิดจากการปิดกันไม่สนิทของเส้นเสียง ทำให้มีลมรั่วออกมาเกินความจำเป็น และเมื่อมีการผลิตเสียงผิดบ่อยๆจนทำให้เกิดตุ่มที่เส้นเสียง จะทำให้เส้นเสียงปิดไม่สนิทถาวร และเสียงแหบในที่สุด


แม้ว่าเราจะไม่สามารถมองเห็นการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย แต่หากเราฝึกสังเกตความรู้สึกของร่างกายบ่อยๆ เราก็จะสามารถเข้าใจวิธีการทำงานของร่างกาย และปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ 

การผลิตเสียง: Text

Experiment

การผลิตเสียง: Text
Screen Shot 2563-04-17 at 20.59.07.png

ในประโยคเพลงสุดท้ายของบทอาเรีย แวร์ดีเขียนคาเดนซา (Cadenza) เพื่อโชว์เทคนิคที่หลากหลายให้กับนักร้อง ประกอบด้วยโน้ตเสียงสูง และมีช่วงเสียงกว้าง ทำให้ต้องฝึกการข้ามช่วงเสียงด้วยความราบเรียบ ไม่มีรอยต่อระหว่างกัน มีเทคนิคสตักคาโต (Staccato) และแอคเซนท์ (Accent) บนโน้ตเสียงสูง

รวมไปถึงเทคนิคทริล (Trill) ทำให้นอกจากการหายใจที่ถูกต้องแล้ว การให้ความสำคัญกับจุดตั้งเสียง (Placement) ก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อเอื้อต่อการทำให้ประโยคเพลงเป็นไปอย่างราบรื่น และดีต่อสุขภาพเสียง โดยสามารถฝึกความแม่นยำให้กับกล้ามเนื้อด้วยการสังเกตความรู้สึกของร่างกายระหว่างร้องโน้ตที่มีช่วงเสียงต่างกันจนเคยชิน เริ่มทำช้าๆ ด้วยกลุ่มโน้ตสั้นๆ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อย 

ในส่วนคาเดนซานี้ไม่มีเครื่องหมายกำกับที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักร้องสามารถเพิ่มสีสันให้บทเพลงได้ตามความรู้สึกของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจมีทั้งการยืดจังหวะออกไป เพิ่มโน้ต การให้ความหนัก เบา และความดัง เพื่อให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น โดยในการทำเสียงดังเบา และการเพิ่มมวลของเสียงนั้น ทั้งหมดยังต้องวางอยู่บนการซัพพอร์ต และการรักษาจุดตั้งเสียงที่แม่นยำเอาไว้ด้วย 

สำหรับปัญหาของตัวผู้วิจัยในการร้องคาเดนซานี้ คือการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงเสียงให้มีความราบเรียบเสมอกัน โดยเมื่อผ่านช่วงเสียงกลาง (Middle register)  ไปยังช่วงเสียงสูง (Head voice) เนื้อเสียงมีคุณภาพที่ต่างกัน โดยในช่วงเสียงสูงมีความหนาแน่นของเสียงน้อยกว่า เมื่ออ่านหนังสือของเตตราสซินีที่บอกเรื่องการตั้งเสียงให้อยู่ในที่ๆ ถูกต้อง และนำมาฝึกซ้อมจนพบว่าการทำให้ทั้งสองช่วงเสียงต่อกันได้อย่างราบเรียบ คือการผสมเสียงเชส และเฮด (Chest tone and Head tone) ให้อยู่ในอัตราส่วนที่พอเหมาะกับช่วงเสียงนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เสียงในแต่ละช่วงเสียงมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันอย่างชัดเจน แต่เชื่อมกันได้อย่างพอดิบพอดี ทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความแตกต่างของแต่ละช่วงเสียง แต่ไม่มีความแตกแยกในด้านคุณภาพเสียง 

เสียงคือเครื่องดนตรีของนักร้อง เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักและเข้าใจกลไลการทำงานและวิธีถนอมเสียง เพื่อให้เครื่องดนตรีของเราคงอยู่ไปได้นานที่สุด การฝึกซ้อมใดๆ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง สังเกตความรู้สึกของร่างกายอยู่ตลอดเวลา เพราะเครื่องดนตรีของนักร้องมีเพียงแค่ชิ้นเดียวบนโลกเท่านั้น

หากเสียหายไปก็ไม่สามารถหามาเปลี่ยนทดแทนของเดิมได้

การผลิตเสียง: List
bottom of page